ช่วง COVID-19 “ซื้อรถยนต์มือสองดีไหม?” ตลาดรถมือสองคึกคักสวนทางรถใหม่
Written by jobusedc

ช่วง COVID-19 “ซื้อรถยนต์มือสองดีไหม?” ตลาดรถมือสองคึกคักสวนทางรถใหม่

ช่วง COVID-19 “ซื้อรถยนต์มือสองดีไหม?” ตลาดรถมือสองคึกคักสวนทางรถใหม่

อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างรุนเเรง หลังซบเซามาหลายปี  โดยคาดว่าตลาดรถยนต์ใหม่ของไทยปีนี้จะหดตัวลึกกว่า 35% เเละแนวโน้มยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศในช่วง 10 ปีข้างหน้าอาจไม่กลับมาแตะหลัก 1 ล้านคันต่อปีได้อีก

ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ตลาด “รถยนต์มือสอง กลับมาคึกคัก เต็นท์รถเริ่มกล้ารับซื้อมากขึ้น สวนทางยอดขายของรถยนต์ใหม่ป้ายแดง พบ “โตโยต้า” ราคาตกน้อยที่สุด ตามมาด้วยฮอนด้าเเละมิตซูบิชิ

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ จับชีพจรตลาดรถไทยหลังโควิด-19: ตลาดรถมือสองคึกคักสวนทางรถใหม่ ท่ามกลางความท้าทาย โดยมองว่า

  • ตลาดรถยนต์ใหม่ของไทยจะหดตัวลึกกว่า 35% ในปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งแนวโน้มยอดขายรถยนต์ในประเทศในระยะต่อไปอาจไม่กลับมาแตะหลัก 1 ล้านคันต่อปีได้อีกจากภาวะหนี้ครัวเรือนและปัจจัยทางประชากร
  • กำลังซื้อที่ลดลงและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางหลังโควิด-19 จากความกังวลต่อสุขภาพส่งผลให้ตลาดรถมือสองกลับมาคึกคักขึ้นในระยะสั้น
  • ตลาดรถมือสองมีแนวโน้มแผ่วลงอีกครั้งในไตรมาส 4 หลังการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง ซึ่งอาจส่งผลให้มีอุปทานรถมือสองล้นตลาดและราคาปรับลดลง
  • อนาคตตลาดรถยนต์และอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยจะเผชิญความท้าทายทั้งจากความต้องการในประเทศที่ชะลอลง และเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV (electric vehicles) ที่จะทยอยเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

จากการวิเคราะห์ของ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ตลาดรถยนต์ไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าและถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชากรและความต้องการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างรถยนต์จากความไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน อีกทั้งยังมีแนวโน้มใหญ่ (megatrends) ที่อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ต่อเนื่องถึงธุรกิจจัดจำหน่าย (dealership) ในอนาคต ทั้งในด้านการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนไปใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งมีประสิทธิภาพดีขึ้นและมีแนวโน้มต้นทุนที่ถูกลง และวิถีชีวิตของคนเมืองที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากทางเลือกในการเดินทางที่เพิ่มขึ้นที่อาจส่งผลให้ความเชื่อที่ว่า “รถคือปัจจัยที่ 5” ลดความสำคัญลง (mobility as a service) สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง

ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ รถมือสองดูเหมือนจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่หลายคนเริ่มมองหา ในช่วงที่ภาวะการเงินของครัวเรือนได้รับผลกระทบและมีความไม่แน่นอน แต่ยังมีความจำเป็นต้องใช้รถเพื่อเดินทางไปทำงาน หรือเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศแทนการเดินทางด้วยเครื่องบินหรือการท่องเที่ยวต่างประเทศจากความกังวลด้านสุขภาพ

โควิด-19 ดันยอดขายรถยนต์หดตัวแล้ว 37%

ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กำลังซื้อของประชากรลดลงจากผลกระทบต่อรายได้ และความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง เป็นผลให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดรถยนต์ใหม่หดตัวแล้วถึง 37% และตลอดปี 2020 คาดว่ายอดขายรถยนต์ใหม่จะลดลงเหลือเพียง 650,900 คัน คิดเป็นการหดตัวถึง 35% จากยอดขายในปีที่แล้ว

โควิด-19 กระตุ้นตลาดรถมือสองให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

แม้ว่ายอดขายรถยนต์ป้ายแดงจะหดตัวแล้วถึง 37% ตลอดครึ่งปีแรก แต่ยอดขายรถยนต์มือสองที่วัดจากยอดโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ลดลงเพียง 15% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะตลาดรถยนต์มือสองที่ยังคงแข็งแกร่ง และยืดหยุ่นกว่าตลาดรถยนต์ใหม่

ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ออกไป รวมทั้งอาจมีบางส่วนตัดสินใจหันไปซื้อรถยนต์มือสองเพื่อทดแทนการซื้อรถยนต์ป้ายแดงมากขึ้น อีกทั้งแนวโน้มราคารถยนต์มือสองที่ปรับตัวลดลงจนมีความน่าสนใจ และมีสัดส่วนรถปีใหม่ ๆ (หลังปี 2015) ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากการเทขายของผู้ใช้รถที่เผชิญปัญหาสภาพคล่องหรือจากการขายทอดตลาด

ซึ่งจากข้อมูลบนเว็บไซต์ One2car ที่เป็นตลาดรถออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่าจำนวนรถที่ลงประกาศขายก่อนครบรอบการเปลี่ยนรถปกติ (Replacement cycle) หรือรถมือสองที่จดทะเบียนหลังปี 2015 เพิ่มขึ้นถึง 6.1% จากต้นปี สวนทางกับรถปีเก่าที่มีจำนวนลดลงกว่าหนึ่งในสี่ และขยายสัดส่วนเพิ่มจาก 26% ในเดือนมกราคมเป็น 32% ในเดือนมิถุนายน

ข้อมูลจาก Google Trends ยังชี้ให้เห็นว่าตลาดรถมือสองในช่วงคลายล็อกดาวน์กลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น โดยการค้นหาข้อมูลรถมือสองยี่ห้อหลักในอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี ชี้ให้เห็นถึงความต้องการมีรถยนต์เพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในแง่กำลังซื้อที่ทำให้ไม่สามารถซื้อรถใหม่ได้

ราคารถมือสองเริ่มทรงตัว เต็นท์กล้ารับซื้อรถมากขึ้น

ตลาดรถมือสองได้รับผลกระทบอย่างมากในปี 2019 หลังการจบรอบการเปลี่ยนรถยนต์ที่เคยใช้สิทธิ์จากโครงการรถคันแรกที่ส่งผลให้มีสต๊อกรถมือสองเข้าสู่ตลาดจำนวนมากเกินความต้องการซื้อในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว ราคารถมือสองจึงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ตลาดรถมือสองเริ่มทรงตัวได้ตั้งแต่ช่วงต้นปีก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ข้อมูลจาก One2car บ่งชี้ว่าราคารถในตลาดมือสองโดยภาพรวมปรับตัวลงมากในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายน ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ราคารถยนต์มือสองโดยภาพรวมปรับลดลงเพียง 1.4%

ขณะเดียวกัน ราคารถประมูลซึ่งสะท้อนต้นทุนสำหรับเต็นท์รถดิ่งลงในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 สูงสุดโดยลดลงถึง 18% เมื่อเทียบกับต้นปี จากการเปลี่ยนรูปแบบการประมูลมาเป็นการประมูลแบบออนไลน์แทนที่ศูนย์ประมูล จึงกลายเป็นโอกาสที่เต็นท์รถมือสองสามารถซื้อรถด้วยต้นทุนที่ถูกลงมาก

นอกจากนี้ยังสามารถปรับราคาขายเพื่อกระตุ้นยอดขายโดยยังคงส่วนต่างกำไรได้ ด้วยสาเหตุนี้ประกอบกับความต้องการที่อั้น (Pent-up demand) มาจากช่วงโควิด-19 ในช่วงแรกของการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เราเชื่อว่าตลาดรถมือสองจะยังคงคึกคักต่อไปได้ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า

เมื่อพิจารณาตามยี่ห้อรถยนต์ พบว่า โตโยต้า (Toyota) ได้รับผลกระทบด้านราคาน้อยที่สุด โดยติดลบราว 3% YTD กลุ่มยี่ห้อที่ได้รับผลกระทบรองลงมา ได้แก่ ฮอนด้า (Honda), มิตซูบิชิ (Mitsubishi), ฟอร์ด (Ford), อีซูซุ (Isuzu) ที่ติดลบประมาณ 4-6% YTD ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ได้แก่ นิสสัน (Nissan) และ มาสด้า (Mazda) ซึ่งติดลบราว 8%

ปัจจัยที่ต้องติดตามในอนาคต

แม้ว่าตลาดรถโดยรวมจะกระเตื้องขึ้นในช่วงคลายล็อกดาวน์ แต่ตลาดมีแนวโน้มแผ่วลงในช่วงปลายปีนี้จากกำลังซื้อที่ลดลง KKP Research มองว่า ด้วยความต้องการซื้อรถยนต์ส่วนตัวที่อั้นมาจากช่วงการแพร่ระบาดสูงสุดของโควิด-19 ประกอบกับความต้องการเดินทางที่ธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ ท่ามกลางความกังวลด้านสุขภาพ อีกทั้งราคารถที่มีแนวโน้มทรงตัวจะเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดรถ โดยเฉพาะรถมือสองยังคงคึกคักได้ตลอดไตรมาส 3 ของปีนี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดรถจะเริ่มแผ่วลงในไตรมาส 4 พร้อมกับการทยอยสิ้นสุดของการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงิน และการเลิกจ้างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ถูกจัดชั้นเป็นหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีรถที่ถูกยึดและถูกขายทอดตลาดในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เกินกว่าความต้องการของตลาดจะดูดซับได้ ทำให้ตลาดอาจกลับมาซบเซาอีกคราวหนึ่ง.

ช่วง COVID-19 “ซื้อรถยนต์มือสองดีไหม?” ตลาดรถมือสองคึกคักสวนทางรถใหม่ By jobusedcar

ใส่ความเห็น

Your email address will not be published. Required fields are marked *